วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสนับสนุนกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ (ศอส.) เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือจากสถานการณ์อุทกภัย ณ ห้องประชุม ศูนย์อานวยการช่วยเหลือสนับสนุนกรณี เหตุการณ์ไม่ปกติ (ศอส.) อาคาร SCADA สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผ่านระบบออนไลน์ Webex
ตามที่เกิดพายุวิภา ส่งผลให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก น้ำท่วมฉับพลัน และคลื่นลมทะเลแรงในช่วงวันที่ 20–24 กรกฎาคม 2568 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้ตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือสนับสนุนกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ (ศอส.) เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศเพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดมาตรการรับมืออย่างเหมาะสม
2. ตรวจสอบ ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพมั่นคง ปลอดภัย โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว และเสริมมาตรการป้องกันเป็นพิเศษสำหรับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
3. ตรวจสอบมิเตอร์ที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าในพื้นที่เกิดอุทกภัย ให้อยู่ในระยะความสูงที่ปลอดภัยต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามมาตรฐานของ PEA
4. ประสานงานร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นตรวจสอบระบบไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าแสงสว่าง หากพบจุดเสี่ยงต่อการจ่ายไฟฟ้าประเมินแล้วพบว่าจะเกิดอันตรายต่อประชาชน ให้ดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าทันที
5. ประสานงานส่วนท้องถิ่นในการวางแผนจุดจ่ายไฟฟ้า ให้การสนับสนุนด้านระบบไฟฟ้า สำหรับเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำโดยเฉพาะสถานที่สำคัญ
6. จัดเตรียมแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัย แผนย้ายโหลดรองรับกรณีเกิดอุทกภัยทั้งในส่วนของระบบจำหน่ายไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้า แผนเผชิญเหตุการณ์เกิดเหตุฉุกเฉิน และร่วมซักซ้อมแผนบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7. ยกระดับความสูงของมิเตอร์ในพื้นที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมทั้งเปลี่ยนเป็นมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Meter)
8. ยกระดับความสูงของหม้อแปลง Station Service ภายในสถานีไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้า
เสริมความมั่นคงแข็งแรงของเสาไฟฟ้า
1.สำรวจระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ บริเวณร่องลมพายุพัดผ่าน บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง น้ำกัดเซาะ บริเวณพื้นที่ลุ่มดินอ่อน บริเวณที่มีสถิติเสาไฟฟ้าล้มซ้ำซาก
2. ติดตั้งสายยึดโยง ทุกๆ เสาไฟฟ้า 3 ต้น สำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตั้งสายยึดโยงได้ให้ปีกเสาไฟฟ้าแบบคู่แทนเสาไฟฟ้าแบบเดี่ยว
3. บริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำกัดเซาะให้เปลี่ยนไปใช้เสาไฟฟ้าขนาดใหญ่และมีความยาวมากขึ้นกว่าเสาไฟฟ้าเดิม
ข่าว/ภาพ : กองสื่อสารภาพลักษณ์องค์กร