แบนเนอร์

ข่าวประชาสัมพันธ์

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ Smart Industrial Estates”

 

         วันนี้ (วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561 เวลา 13.00 น.) นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. นายอัฐพล จิริวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการ (สายงานปฏิบัติการ 2) รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ Mr.Derek Parkin, กรรมการบริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “Smart Industrial Estates” ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ กฟภ. ชั้น 23 อาคาร LED สำนักงานใหญ่ กฟภ.

          การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะตาม PEA Smart Grid Roadmap สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย เพื่อให้ระบบของ กฟภ. สามารถเชื่อมโยงและทำงานร่วมกับการไฟฟ้าอื่นๆ ได้ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของประเทศ โดย กฟภ. มีแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประกอบด้วย การติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ ระบบ IT Integration ระบบแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) และแผนการจัดทำโครงการ Demand Response ของ กฟภ.

          จากแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟภ. จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่าง กฟภ., การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เพื่อจัดตั้งโครงการ Smart Industrial Estates และ Microgrid Solutions ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและทดสอบรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาที่แข่งขันได้ โดยจะศึกษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ Smart Grid Platform, Distribution Automation, Demand Response, Microgrid, Digital Substations, Distributed Energy Resources, Renewable Energy, Advanced Metering Infrastructure, Electric Vehicle Charging Network โดย กฟภ. จะรับผิดชอบในการให้ข้อมูลด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แนวทางเกี่ยวกับโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการออกแบบ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในแต่ละพื้นที่ที่ดำเนินการ สำหรับ กนอ. จะเป็นผู้จัดหาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของโครงการ และนโยบายเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม 4.0 และบริษัท ซีแอลพีฯ จะรับผิดชอบในการออกแบบโครงสร้างและโมเดลเชิงพาณิชย์ของโซลูชั่นส์ด้านนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เริ่มดำเนินการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นแห่งแรกจากนั้นจะขยายผลในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป

 

ข่าว : แผนกสื่อสารภายในภายนอก

ภาพข่าว : แผนกผลิตสื่อโสตทัศน์

Print
Tags:
  • 29 June 2018
  • Author: PR News
  • Number of views: 2232
  • 0 Comments