บทความด้านวิศวกรรมไฟฟ้า

กรณีศึกษาการบำรุงรักษาตรวจสอบด้วยกล้องส่องหาความร้อน

กรณีศึกษาการบำรุงรักษาตรวจสอบด้วยกล้องส่องหาความร้อน

เขียนโดย ดร.ยุทธพงศ์ ทัพผดุง

บทคัดย่อ

ปัจจุบันการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าด้วยวิธีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันเป็นกลยุทธหนึ่งที่ได้รับความนิยมใช้เป็นอย่างสูงในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยรูปแบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการบำรุงรักษาดังกล่าวนั้นมีหลากหลายวิธีเช่นกัน บทความนี้เป็นการนำเสนอวิธีการบำรุงรักษาเชิงป้องกันโดยใช้กล้องส่องหาความร้อน ซึ่งในอดีตจนถึงปัจจุบันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการบำรุงรักษาเชิงป้องกันในระบบไฟฟ้าของ กฟภ. และปัจจุบัน กฟภ. ยังให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอีกด้วย

1. บทนำ

ในอดีตถึงปัจจุบัน กฟภ. ได้มีการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า,สายส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหลังจากได้มีการก่อสร้างเสร็จสิ้นและได้มีการใช้งานแล้ว การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าต่างๆก็เป็นกระบวนการที่ กฟภ. จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อยังคงให้ระบบไฟฟ้าสามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องและเกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งกลยุทธ์การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้านั้นก็จะมีหลายหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีแนวทางการเลือกรูปแบบและวีธีการบำรุงรักษาให้เหมาะสมกับอุปกรณ์แตกต่างกันไป ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป สำหรับการใช้กล้องส่องหาความร้อนเพื่อตรวจสอบจุดสัมผัสทางไฟฟ้าในระบบของ กฟภ. นั้น ก็เป็นวิธีการหรือแนวทางหนึ่งในการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซึ่งจะช่วยทำให้เราทราบการเกิดสิ่งผิดปกติในระบบไฟฟ้าล่วงหน้าได้ ซึ่งจากผลการตรวจสอบดังกล่าวทำให้สามารถวางแผน,จัดเตรียมอุปกรณ์-อะไหล่ที่จำเป็น และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธภาพ เพิ่มความเชื่อถือได้และยังช่วยลดผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟอีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ กฟภ. อีกด้วย

ถึงแม้การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าของ กฟภ. โดยใช้กล้องส่องหาความร้อนเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าของ กฟภ. มีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามผู้ตรวจสอบจำเป็นจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการใช้งานกล้องดังกล่าวเป็นอย่างดี เนื่องจากก่อนการใช้งานกล้องส่องหาความร้อนจำเป็นจะต้องมีการปรับตั้งค่าพารามิเตอร์ต่างๆเพื่อให้การวัดค่าอุณหภูมิมีความถูกต้องมากที่สุด

ดังนั้นในบทความนี้จะเป็นการนำเสนอกลยุทธการบำรุงรักษาในรูปแบบต่างๆและวิธีการเลือกรูปแบบการบำรุงรักษาเบื้องต้น ตลอดจนมีการแนะนำการปรับตั้งค่าพารามิเตอร์ของกล้องส่องหาความร้อนและสุดท้ายยังได้นำภาพถ่ายจริงด้วยกล้องดังกล่าวจากระบบไฟฟ้าของ กฟภ. และในโรงงานอุตสาหกรรมที่ กฟภ. ได้ให้บริการมาเป็นกรณีศึกษาด้วย

2. รูปแบบการบำรุงรักษา

ในการที่จะใช้กลยุทธการบำรุงรักษาใดมาใช้กับระบบไฟฟ้านั้น ผู้ปฏิบัติงานด้านบำรุงรักษาจำเป็นจะต้องเข้าใจหลักการของการบำรุงรักษาเพื่อทำให้การบำรุงรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการบำรุงรักษาจะประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆเช่น การบำรุงรักษาแบบป้องกัน(Preventive Maintenance),การบำรุงรักษาแบบแก้ไข(Corrective Maintenance),การตรวจวัดสภาพ(Condition monitoring)และการบำรุงรักษาแบบปรับปรุง(Improvement Maintenance) ซึ่งเราสามารถแบ่งการบำรุงรักษาออกเป็น 3 ส่วนดังต่อไปนี้

  • การบำรุงรักษาแบบแก้ไข(Corrective Maintenance) ซึ่งเป็นการบำรุงรักษาแบบฉุกเฉิน หรือการบำรุงรักษาเมื่อเสีย แต่ถึงอย่างไรบางทีการบำรุงรักษาแบบแก้ไขก็สามารถวางแผนได้
  • การบำรุงรักษาแบบป้องกัน(Preventive Maintenance)จะเป็นการบำรุงรักษาตามโปรแกรมทั้งหมดซึ่งกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขัดข้องขึ้นหรือเพื่อตรวจจับปัญหาที่ขัดข้องก่อนที่จะลุกลามไปเป็นความเสียหายหรือกระทบต่อระบบไฟฟ้า
  • การบำรุงรักษาแบบปรับปรุง(Improvement Maintenance)จะเป็นการขจัดปัญหาของระบบไฟฟ้าให้หมดไปหรือกล่าวคือทำให้ปัญหานั้นไม่เกิดขึ้นเลยหรือไม่ก็ยืดอายุของชิ้นส่วนให้ยาวนานที่สุด

สำหรับการบำรุงรักษาแบบป้องกันนั้นยังสามารถแยกออกได้เป็น 2 ส่วนคือการบำรุงรักษาแบบป้องกันทางตรง(Direct Preventive Maintenance) ซึ่งมักจะถูกควบคุมโดยเวลาซึ่งอาจจะเป็นเวลาตามปฏิทิน,จำนวนชั่วโมงการทำงานหรือจำนวนการทำงานของอุปกรณ์เป็นต้นและส่วนที่สองจะเป็นการบำรุงรักษาแบบทางอ้อมซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า และมักจะถูกเรียกว่าการตรวจวัดสภาพ(Condition monitoring) หรือเรียกว่าการบำรุงรักษาตามสภาพ(Condition Based Maintenance หรือ CBM) โดยการเปลี่ยนชิ้นส่วนของอุปกรณ์นั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งานจริงของอุปกรณ์นั้นๆดังแสดงในรูปที่ 1

cs ti001

รูปที่ 1 ผังการบำรุงรักษาแบบป้องกัน

สำหรับการตรวจวัดสภาพนั้นสามารถแบ่งได้สองวิธี คือการตรวจวัดสภาพแบบใช้ความรู้สึก(Subjective Condition Monitoring) ซึ่งจะเป็นการใช้ความรู้สึกของผู้ตรวจสอบเช่นการฟังเสียง การมองดู การดมกลิ่น และจากผลการตรวจสอบสามารถนำมาใช้ประเมินสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าได้และวิธีที่สองจะเป็นการตรวจสภาพแบบใช้อุปกรณ์(Objective Condition Monitoring) ทำโดยการใช้อุปกรณ์ช่วยในการตรวจวัด และค่าที่ตรวจวัดได้สามารถบอกสภาพของอุปกรณ์หรือส่วนประกอบต่างๆได้ และการตรวจวัดสภาพแบบใช้อุปกรณ์ยังสามารถแบ่งได้เป็นอีกสองวิธีคือการตรวจสภาพตามช่วงเวลา(Off-line condition monitoring)ซึ่งหมายถึงพนักงานพร้อมอุปกรณ์ตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบอุปกรณ์ในระบบไฟฟ้านั่นเอง ซึ่งการบำรุงรักษาโดยใช้กล้องส่องหาความร้อนนั้นก็จะอยู่ในวิธีการนี้และอีกวิธีการหนึ่งก็คือการตรวจวัดต่อเนื่อง(On-line condition monitoring) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์วัดที่ต่อโดยตรงกับอุปกรณ์และค่าที่ได้จากการวัดจะมีการแสดงผลออกมาอย่างต่อเนื่อง

3. การปรับตั้งค่าพารามิเตอร์ของกล้องส่องหาความร้อน

การวัดค่าความร้อนด้วยกล้องส่องหาความร้อนซึ่งค่าความร้อนและภาพจะได้จากปล่อยรังสีอินฟราเรดจากวัตถุหรืออุปกรณ์ที่ต้องการวัดความร้อน  ซึ่งจากการแผ่รังสีอินฟราเรดของวัตถุนั้นก็จะเป็นค่าอุณหภูมิของพื้นผิวของวัตถุนั้นๆนั่นเองและกล้องส่องหาความร้อนจะคำนวณและแสดงผลค่าอุณหภูมิออกมา

cs ti002

รูปที่ 2 การแผ่รังสีในรูปแบบต่างๆ

ถึงอย่างไรก็ตาม การวัดการแผ่รังสีอินฟราเรดโดยใช้กล้องส่องหาความร้อนนั้นจะไม่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของวัตถุเพียงอย่างเดียวแต่จะขึ้นอยู่กลับความสามารถในการปล่อยรังสีของวัตถุนั้นๆด้วย อีกทั้งยังมีการปล่อยรังสีจากวัตถุใกล้เคียงและถูกสะท้อนจากวัตถุด้วย ดังรูปที่ 2 และไม่ว่าการแผ่รังสีทั้งจากวัตถุและจากวัตถุใกล้เคียงก็จะถูกบรรยากาศซึมซับรังสีทำให้การแผ่รังสี       ถูกลดทอนลง ดังนั้นการวัดค่าอุณหภูมิจะถูกต้องนั้นจะต้องมีการชดเชยจากผลกระทบต่างๆดังนี้

3.1 ค่าการปล่อยรังสี (Emissivity)

ค่า Emissivity เป็นค่าพารามิเตอร์ที่สำคัญมากค่าหนึ่ง ซึ่งค่าดังกล่าวจะเป็นการแสดงถึงความสามารถในการปล่อยรังสีอินฟราเรดออกจากวัตถุเมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุดำ(Blackbody)หรือวัตถุที่ไม่มีการสะท้อนของรังสีอย่างสมบูรณ์

โดยปกติแล้ววัสดุและพื้นผิวของวัตถุนั้นจะมีค่า Emissivity อยู่ระหว่าง 0.1 ถึง 0.95 สำหรับวัสดุที่มีพื้นผิวเงามันจะมีต่ำกว่า 0.1 แต่ขณะที่วัสดุที่มีสนิมหรือถูกทาสีทับนั้นจะมีค่า Emissivity สูง โดยเฉพาะสีน้ำมันจะทำค่า Emissivityมีค่าสูงกว่า 0.9 สำหรับผิวหนังของมนุษย์ก็จะมีค่า Emissivity สูงเกือบมีค่าเท่ากับ 1 ดัง ตารางที่ 1 ได้แสดงค่า Emissivity วัสดุแต่ละชนิด

ตารางที่ 1 ค่า Emissivities ของวัสดุต่างๆ

Material

Emissivity

metals

Aluminum:

Polished

anodized

0.05

0.55

Brass:

rubbed with 80-grit emery

heavily oxidized

0.03

0.61

Copper:

Polished

heavily oxidized

0.05

0.78

Gold: polished

0.02

Iron:

cast, polished
cast, oxidized
sheet, rusted

0.21

0.64

0.69

Magnesium: polished

0.07

Nickel:

electroplate, polished
oxidized

0.05

0.37

Material

Emissivity

Silver: polished

0.03

Stainless steel (18-8)

Buffed

oxidized

0.16

0.85

Steel:

Polished

oxidized

0.07

0.79

Tin: plated sheet

0.07

Others

Brick

0.93

Carbon:

candle soot

graphite

0.95

0.98

Concrete

0.92

Glass: polished plate

0.94

Lacquer:

White

matte black

0.92

0.97

Oil: thick coating

0.82

Paint: oil-based

0.94

Paper

0.93

Plaster

0.91

Sand

0.90

Skin, human

0.98

Water:

Distilled

Ice

snow

0.95

0.96

0.98

Wood: planed oak

0.90

3.2 อุณหภูมิของสภาพแวดล้อม

สำหรับอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมหรือ Ambient Temperature นั้น ก็เป็นอีกพารามิเตอร์หนึ่งที่ใช้สำหรับชดเชยการสะท้อนของรังสีอินฟราเรดในวัตถุ และการปล่อยรังสีจากบรรยากาศระหว่างกล้องส่องหาความร้อนกับวัตถุ ถ้าวัตถุมีค่า Emissivity ต่ำและกล้องมีระยะห่างจากวัตถุมากอีกทั้งอุณหภูมิของวัตถุมีค่าใกล้เคียงกับอุณหภูมิรอบข้าง การปรับตั้งค่า Ambient Temperature จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อชดเชยการตรวจจับอุณหภูมิของวัตถุได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

3.3 ระยะห่างและความชื้นสัมพัทธ์

ระยะห่างนั้นจะหมายถึงระยะห่างระหว่างวัตถุที่ต้องการตรวจจับจนถึงหน้าเลนส์ของกล้องส่องหาความร้อน โดยพารามิเตอร์นี้จะใช้เพื่อปรับแก้ค่าการแผ่รังสีอินฟราเรดให้ถูกต้องเนื่องจากการถูกดูดกลืน(absorb)รังสีระหว่างวัตถุที่ต้องการตรวจจับจนถึงกล้องส่องหาความร้อน อีกทั้งยังปรับแก้การถูกลดทอนของการส่งคลื่นรังสีที่แปรผันกับระยะทาง แต่ถึงอย่างไรกล้องส่องหาความร้อนยังคงจำเป็นต้องมีการชดเชยค่าที่ถูกต้องของการส่งคลื่นรังสีเนื่องจากค่าดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับค่าความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศมาก ดังนั้นการปรับค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมก็จะทำให้การวัดค่าอุณหภูมิของวัตถุถูกต้องและแม่นยำขึ้น สำหรับการวัดอุณหภูมิของวัตถุซึ่งมีระยะค่อนข้างใกล้และมีความชื้นที่สภาวะปกตินั้นโดยปกติการปรับตั้งค่าเริ่มต้นของค่าความชื้นสัมพัทธ์จะปรับตั้งมีค่าเท่ากับ50%

4. กรณีศึกษาของการบำรุงรักษาแบบป้องกันด้วยกล้องส่องหาความร้อน

ปัจจุบัน กฟภ. ได้มีการประยุกต์ใช้กล้องส่องหาความร้อนในการบำรุงรักษาระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้า อีกทั้งยังมีนโยบายให้บริการแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ของ กฟภ. ที่ได้นำกล้องส่องหาความร้อนมาช่วยในการบำรุงรักษาระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น สามารถพบสิ่งผิดปกติในระบบไฟฟ้าเนื่องจากสาเหตุต่างๆ อาทิเช่น ค่าความต้านทานสูงที่จุดต่อทางไฟฟ้า,อุปกรณ์หรือสายไฟฟ้ารับภาระทางไฟฟ้าเกินพิกัด,การจัดภาระทางไฟฟ้าแต่ละเฟสไม่สมดุลย,เกิดกระแสไฟฟ้าไหลในสายศูนย์มากผิดปกติ,เกิดการชำรุดภายในอุปกรณ์ไฟฟ้าและอื่นๆ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุที่มีการเกิดเป็นปกติอาจจะมากจากคุณภาพของอุปกรณ์หรือการขาดประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงาน แต่กรณีศึกษาในบทความนี้จะเป็นการนำเสนอเหตุการณ์และรูปภาพที่ได้จากการตรวจระบบไฟฟ้าทั้งในระบบของ กฟภ. และ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นบ่อย แต่ถึงอย่างไรก็ตามการเกิดสิ่งผิดปกติดังกล่าวก็จะส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียพลังงานไฟฟ้าและลดความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าไม่ว่าทั้งในส่วนของ กฟภ. หรือ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

4.1 การเกิดความร้อนที่ลูกถ้วยในระบบจำหน่ายไฟฟ้า

จากรูปที่ 3 เป็นภาพด้วยกล้องส่องหาความร้อนซึ่งพบสิ่งผิดปกติ คือมีเกิดความร้อนขึ้นระหว่างลูกถ้วยลูกที่ 1 และ ลูกถ้วยลูกที่ 2 และจากการสอบถามพนักงานที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่าสิ่งผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุ Preformed มีการสัมผัสกับโลหะด้านบนของลูกถ้วย

cs ti003

รูปที่ 3 การเกิดความร้อนที่ลูกถ้วย

4.2 การเกิดความร้อนที่สายดินของสายเคเบิลใต้ดินในสถานีไฟฟ้า

จากรูปที่  4 เป็นการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในสถานีไฟฟ้าของ กฟภ. พบว่าเกิดความร้อนในสายดินของสายเคเบิลใต้ดินในสถานีไฟฟ้า และจากการสอบถามพนักงานที่เกี่ยวข้องและได้สันนิฐานว่าสิ่งผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นน่าจะมีเนื่องจากสาเหตุการจัดเรียงลำดับเฟสของสายเคเบิลใต้ดินไม่เหมาะสม และหลังจากทราบสาเหตุเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขเป็นปกติแล้ว

cs ti004

รูปที่ 4 การเกิดความร้อนที่ลูกถ้วย

4.3 เกิดความร้อนที่กับดักฟ้าผ่าภายในสถานีไฟฟ้า

จากรูปที่ 5 เป็นภาพการเกิดความร้อนขึ้นที่ตัวกับดักฟ้าผ่าในสถานีไฟฟ้าของ กฟภ. ซึ่งการเกิดความผิดปกติดังกล่าวอาจทำให้เกิดการระเบิดของอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นได้โดยไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้

cs ti005

รูปที่ 5 เกิดความร้อนที่ตัวกับดักฟ้าผ่า

4.4 เกิดความร้อนที่จุดต่อของสายดินเหนือหัวของเสาไฟฟ้าที่มีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า

จากรูปที่ 6 เป็นภาพการเกิดความร้อนที่จุดต่อของสายดินเหนือหัวของเสาไฟฟ้าที่มีการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า จากการสอบถามพนักงานที่เกี่ยวข้องและได้ดำเนินการแก้ไขพบว่าเกิดจากสายศูนย์ของระบบไฟฟ้าแรงต่ำที่เสาไฟฟ้าข้างเคียงสัมผัสกับดินเหนือหัว(Overhead Ground wire) ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าแยกไหลผ่านสายดินเหนือหัวกลับไปยังหม้อแปลง และจากภาพแสดงให้เห็นถึงการจัดโหลดไม่สมดุลยของระบบไฟฟ้าแรงต่ำ รวมทั้งการกวดขันจุดต่อของระบบสายดินเหนือหัวไม่แน่นเพียงพออีกด้วย

cs ti006

รูปที่ 6 เกิดความร้อนที่จุดต่อของสายดินเหนือหัว

4.5 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติภายในกระบอกฟิวส์

จากรูปที่ 7 เป็นภาพที่พนักงาน กฟภ. ได้ไปดำเนินการให้บริการแก่ผู้ไฟภาคธุรกิจอุตสาหกรรม จากภาพดังกล่าวเป็นฟิวส์ป้องกันของคาปาซิเตอร์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากระบอกฟิวส์เฟส C จะมีความร้อนสูงกว่าเฟสข้างเคียงซึ่งสันนิฐานว่าชุดฟิวส์ link ภายในกระบอกฟิวส์ดังกล่าวเริ่มเกิดการหลอมละลายทำความความร้อนสูงขึ้นผิดปกติ

cs ti007

รูปที่ 7 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติภายในกระบอกฟิวส์

4.7 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติภายในเซอร์กิตเบรคเกอร์

จากรูปภาพที่ 8 ได้แสดงการเกิดความร้อนสูงผิดปกติภายในเซอร์กิตเบรคเกอร์  ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากเซอร์กิตเบรคเกอร์มีการรับภาระทางไฟฟ้ามากทำให้หน้าสัมผัสหรืออุปกรณ์ภายในตัวเซอร์กิตเบรคเกอร์ชำรุด โดยการแก้ไขนั้นอาจจะต้องมีการถอดเซอร์กิตเบรคเกอร์เพื่อดูส่วนประกอบภายในของเซอร์กิตเบรคเกอร์ดูว่าอุปกรณ์ใดชำรุดบ้างก่อนที่จะเกิดความเสียหายหรือระเบิดขึ้น

cs ti008

รูปที่ 8 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติภายในเซอร์กิตเบรคเกอร์

4.8 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่สายศูนย์

จากรูปที่ 9 แสดงถึงการเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่สายศูนย์ภายในโรงอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการจัดภาระทางไฟฟ้าไม่สมดุลย์ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลที่สายศูนย์ขึ้น

cs ti009

รูปที่ 9 การเกิดความร้อนสูงผิดที่สายศูนย์

4.9 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่บุชชิ่งด้านไฟฟ้าแรงต่ำ

จากรูปที่ 10 ได้แสดงการเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่บุชชิ่งด้านไฟฟ้าแรงต่ำภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นได้สันนิษฐานเบื้องต้นเกิดจากจุดต่อมีการกวดขันไม่แน่นเพียงพอ แต่เมื่อพนักงานได้ทำการตรวจสอบหม้อแปลงลูกอื่นๆบริเวณใกล้เคียงแล้วพบว่ามีลักษณะสิ่งผิดปกติที่ใกล้เคียงกัน และจากการสอบถามช่างเทคนิดของโรงงานได้ให้ข้อมูลว่าระบบไฟฟ้าดังกล่าวเป็นที่เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น(110/220 โวลท์) และจากข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวจึงพอสันนิษฐานได้ว่าสาเหตุการเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่บุชชิ่งด้านไฟฟ้าแรงต่ำน่าจะเกิดจากการจัดภาระทางไฟฟ้าของหม้อแปลงไม่สมดุลย์ภายในโรงงาน

cs ti010

รูปที่ 10 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่บุชชิ่งด้านไฟฟ้าแรงต่ำ

4.10 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่น็อตยึด BUSBAR

จากรูปที่ 11 แสดงการเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่น็อตยึด BUSBAR ซึ่งเกิดจากสาเหตุการสั่นสะเทือนของหม้อแปลงซึ่งเป็นชนิดติดตั้งภายในอาคารทำให้น็อตยึด BUSBAR เกิดการสั่นสะเทือนด้วยและเกิดการเสียดสีทำให้เกิดความร้อนขึ้น

cs ti011

รูปที่ 11 การเกิดความร้อนสูงผิดปกติที่น็อตยึด BUSBAR

5. สรุป

บทความนี้ได้นำเสนอหลักการบำรุงรักษาแบบต่างๆและได้แสดงให้เห็นว่าการบำรุงรักษาโดยใช้กล้องส่องความร้อนได้ช่วยพนักงานบำรุงรักษาสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาในระบบไฟฟ้าได้ถูกต้องและรวดเร็ว แต่ถึงอย่างไรก็ตามการปรับตั้งค่าพารามิเตอร์ต่างๆของกล้องส่องหาความร้อนเพื่อให้เกิดความถูกต้องในการวัดอุณหภูมิก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าด้วยกล้องส่องหาความร้อนควรให้ความสำคัญกับการปรับค่าพารามิเตอร์ต่างๆให้มีความเหมาะสมกับประเภทของอุปกรณ์ที่ดำเนินการตรวจสอบด้วย

เอกสารอ้างอิง

[1] ศูนย์ศึกษาการจัดการบำรุงรักษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เอกสารประกอบการสัมมนา“กลยุทธในการจัดการบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิผลเพื่อการเติบโตและการอยู่รอดของธุรกิจ”, 24-25 กุมภาพันธ์ 2543.

[2] AGEMA infrared Systems AB, ”Thermovisionâ 550 Operation Manual”, September 1997.

Previous Article ติดตั้งสายเคเบิลระบบที่มีความไวต่อสัญญาณรบกวนอย่างไร ให้ปลอดภัยจาก EMI
Print
3579 Rate this article:
4.3

Please login or register to post comments.